07 ธันวาคม 2556

การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง (ตอนที่4)

คำอธิบายเพิ่มเติมประกอบแนวคิด นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

1.    ที่มาของนโยบาย

ก.    ผู้สมัครสายอิสระ สายพรรคการเมือง หรือสายมหาวิทยาลัย จะการประชุมร่วมกันแต่แรก จึงอาจมีบางคนถอนตัว แลกกับให้มีนโยบายของตนบรรจุไว้กับผู้สมัครบางคนที่เห็นว่ามีศักยภาพกว่าหรือสูงสุด แล้วตกลงใจช่วยหาเสียงแลกกับตำแหน่งทางการเมืองหากมีชัยชนะ แล้วแต่ข้อตกลง  ดังนั้นการถอนตัวแลกกับการบรรจุนโยบายลงตัวแทนของผู้สมัครจึงเป็นการสะสมนโยบายอย่างหนึ่ง เป็นการบูรณการนโยบายเข้าไว้ด้วยกันแล้วกลายเป็นนโยบายที่สมบูรณ์ระดับชาติในรอบสุดท้าย หรือ

ข.    การสะสมนโยบายเกิดขึ้นได้ในแต่ละรอบ  เพราะมีผู้สอบตก  ดังนั้นผู้เข้ารอบต่อไปมีสิทธินำนโยบายบางส่วนของคนตกรอบมาบรรจุเพิ่มเติมไว้ใน นโยบายของตน และอาจได้รับการสนับสนุนช่วยหาเสียง จากคนที่ตกรอบ ทำให้มีการสะสมนโยบาย และสะสมผู้ช่วยหาเสียงตามธรรมชาติ ตั้งแต่การเลือกตั้งรอบที่สองเป็นต้นไป

ค.    นโยบายรอบสุดท้าย ซึ่งมีแข่งขันกันสองคน หรือสองทีมนั้น นโยบายต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐเสียก่อน  เช่น ประกอบด้วยตัวแทนของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด กฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เป็นนโยบายที่มีประโยชน์อย่างยั่งยืน และไม่เกิดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น

2.     การเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ก.    สายผู้สมัครอิสระ ผู้สมัครอิสระมาประชุมพร้อมกัน  และอาจมีมติให้บางคนเป็นตัวแทนของสายเพื่อเข้าต่อสู้แข่งขัน ส่วนผู้สมัครที่เหลือถอนตัวแล้วช่วยหาเสียงและบูรณาการนโยบาย ทั้งหมดไว้ด้วยกัน  เช่น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์  ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์  สมัครแบบ 2556.2 ในนามสายอิสระ และมีผู้สมัครอื่นๆ รวมแล้ว 10 คน  อาจมีการตกลงให้เหลือ 1 คน คือ ดร.ศุภชัย  เป็นตัวแทนของสายผู้สมัครอิสระ  ส่วนผู้สมัครที่เหลืออาจตกลงใจนำนโยบายเดิมของตนเองให้บรรจุในนโยบายของผู้สมัครที่เป็นตัวแทน  แล้วช่วยหาเสียงให้  และอาจมีสัญญาใจ หรือประกาศให้สาธารณะรับทราบว่า หากตนชนะ แล้วจะให้ผู้สมัครบางคนดำรงตำแหน่งในครม.  เช่น  ดร.ปุระชัย ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย เป็นต้น

ข.    สายพรรคการเมือง  พรรคการเมืองจำนวนมากประชุมกัน แล้วอาจเสนอชื่อมาเพียง 2 ชื่อก็ได้ซึ่งเป็นตัวแทนของ 2 พรรค  ส่วนพรรคที่เหลือมาช่วยจัดทำนโยบาย และช่วยหาเสียงให้พรรคที่ตนสนับสนุน ซึ่งพอจะเห็นภาพร่างครม.ในอนาคต  หรืออาจมีการไพรมารี่ให้เหลือตัวแทนสายเพียง 1 คน(ของบางพรรคการเมือง) อาจเกิดความร่วมมือร่วมใจ ในการหาเสียงและเป็นครม.ร่วมกันในอนาคต แม้ทั้ง 2 พรรคเคยเป็นคู่ขัดแย้งกันมาก่อนก็ตาม เช่น เมื่อสายผู้สมัครอิสระ  มีมติส่งเข้าสมัคร 1 คน คือ ดร.ศุภชัย  ฝ่ายพรรคการเมืองอาจถูกบังคับ และถูกกดดันให้ต้องร่วมมือกันเฟ้นหาตัวผู้สมัครที่มีศักยภาพและฝีมือ พอสู้สายผู้สมัครอิสระได้  ซึ่งที่สุดแล้วจะเหลือผู้สมัครเพียง 1 รายชื่อเท่านั้นก็ได้

ค.    สายมหาวิทยาลัยไทย  มหาวิทยาลัยส่งตัวแทนประชุมเพื่อสรรหาและเสนอชื่อ แล้วค่อยไปทาบทาบผู้สมัครให้ได้ครบตามจำนวน  เมื่อได้ครบจำนวนแล้วจึงเรียกประชุมเสนอชื่อและหรือครม.เงา  ส่วนบางคนอาจถอนตัวในขั้นตอนนี้ แล้วมาช่วยหาเสียงในฐานะรัฐมนตรีอนาคตก็ได้  ดังนั้นสายมหาวิทยาลัย อาจเสนอชื่อเพียง 1-2 คน หรือทีมเท่านั้น ซึ่งอาจน้อยกว่าโควต้าที่กำหนดไว้  คือ 2556.1 เสนอได้ 4 ทีม หรือ 2556.2 เสนอได้ 10 รายชื่อ เป็นต้น

3.    นักการเมืองสังกัดพรรคหรือไม่?

ก.    ฝ่ายนิติบัญญัติ  อาจมาจากผู้สมัครอิสระ สังกัดพรรคการเมือง ขณะฝ่ายบริหารอาจมาจากอิสระ หรือสังกัดพรรคใดก็ได้ ดังนั้นพยากรณ์ได้ยากว่าในแต่ละวาระสมัยนั้น ฝ่ายใดครองเสียงข้างมาก ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของประชาชนในแต่ละยุค

ข.    การออกแบบระบบ  กรณีเหตุการณ์ตามข้อ 3 ก ยากพยาการณ์ได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติ จะเห็นชอบกับนายกรัฐมนตรีทุกกรณี หรือไม่ เพื่อแก้ปัญหากรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างนายกรัฐมนตรี กับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น หาก พรบ.งบประมาณไม่ผ่านสภาผู้แทน ฯลฯ  จึงต้องมีการออกแบบกลไกให้สองสถาบันการเมืองนี้ ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เช่น เกณฑ์ของจำนวนเสียงขั้นต่ำของมติ  อำนาจของวุฒิสภาในการยับยั้งกฎหมาย และสุดท้ายคือการใช้ประชามติ ในกรณีเกิดความขัดแย้งอันไม่อาจตกลงกันได้ ซึ่งการออกกลไกเหล่านี้ จะได้มีการอภิปราย  หรือเสวนาในทฤษฎีทางรัฐศาสตร์กันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น