02 กันยายน 2552

คลองอู่ตะเภากับปัญหาน้ำเน่าเสีย

เย็นวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม 2552 เกิดฝนตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตาในเขตเทศบาลเมืองหาดใหญ่ เป็นฝนตกใหญ่ครั้งแรกของปี ฝนตกเหมือนฟ้ารั่วคราวนี้ทำราวกับว่าสวรรค์กำลังชำระล้างสิ่งสกปรกในตัวเมืองหาดใหญ่ให้พ้นจากความสกปรกโสมม...ของสิ่งปฏิกูลที่จำนวนประชากรของเมืองก่อขึ้น


เช้าของวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2552 ผมไปให้อาหารปลาที่ท่าน้ำวัดคูเต่า(เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา)ก่อนไปถึงท่าน้ำ พระหลวงลุงทุ่มบอกว่า วันนี้ไม่ต้องให้อาหารปลาอีกแล้ว เพราะเมื่อคืนน้ำเสียลงมา ปลาลอยหัว เมา บ้างก็ตาย พร้อมกับชี้ไปที่กลุ่มคนหาปลาท่าน้ำวัดฯ

ผมใจคอไม่ดีเลย เสียใจอยู่เหมือนกัน เพราะปลาที่ฟูมฟักไว้อาจไม่รอด แต่ก็ทำใจได้อย่างรวดเร็ว เพราะรู้มาแล้วเหมือนกันว่าต้องพบเจอปัญหานี้ ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นการให้ทานสัตว์ ส่วนผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ปล่อยให้เป็นไปตามบุญกรรมก็แล้วกัน ขณะเดียวกันแนวคิดการเริ่มต้นอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ เขตอภัยทาน และพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์วัฒนธรรมบริเวณวัดคูเต่านั้น เป็นอันว่ายังอยู่อีก...ห่างไกล แต่ก็ยังไม่ล้มเลิก

ผืนน้ำกว้างใหญ่  แต่ไม่มีที่ให้ปลาอยู่และหายใจ มันเป็นภาพที่น่าเวทนาและชวนหดหู่ ขณะเดียวกันใจผมกลับย้อนนึกไปถึงภาพเหตุการณ์ที่นาซีเยอรมันรมก๊าซพิษฆ่าชาวยิวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2..ที่ชาวยิวตายเป็นล้านศพ ราวกับว่า 2 เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องเดียวกัน
ใจอยากบันทึกภาพเก็บไว้  แต่โทรศัพท์เป็นรุ่นไม่มีกล้องถ่ายรูป เลยโทร.ตามน้องปลัดหอยมาถ่ายภาพ...ภายในไม่กี่อึดใจนาที  ก็เลยได้ภาพอย่างที่เห็น



หลวงลุงทุ่ม พระลูกวัดคูเต่า เล่าว่า น้ำเสียแบบนี้มีให้เห็นทุกปี  ที่น้ำเสียไหลลงมาจากตัวเมืองหาดใหญ่ อย่างน้อยก็ปีละครั้ง ปลาเมาน้ำตาย หรือไม่ก็เมาวิงเวียนถูกจับไปกิน ไปขายโดยง่าย

พี่ทิน(ลูกป้าแท่น)กล่าวขณะมายืนดูปลาลอยหัวที่ท่าน้ำวัดคูเต่าบริเวณสะพานข้ามคลองว่า ถ่ายรูปไว้เลย  จะได้เก็บไว้เป็นหลักฐาน พี่ทินบอกว่า มีแบบนี้ทุกปี คือ พอฝนตกหนักพวกโรงงานก็ปล่อยน้ำเสียผสมโรงเข้าด้วยกัน...คงทำนองว่า ร่วมด้วยช่วยกัน(ทำลาย)

ความจริงผมเห็น "หอยขม"หนีตายปีนขึ้นมาบนเสาท่าน้ำวัดด้วย นึกเวทนานัก เลยจับเอามาขังน้ำไว้ที่บ้านหลายตัว  อีก 2 วันต่อมา เมื่อน้ำดีเป็นปกติแล้ว(เกือบซวย..ขังลืมไปแล้วเหมือนกันนะ)ก็ปล่อยกลับคืนที่ท่าน้ำบ้านป้าเหี้ยว...เพียงแค่นี้ ชีวิตก็มีความสุข  ความสุขที่ได้ช่วยเหลือชีวิตเล็กๆและไร้ค่าในสายตาคนหมู่มาก ส่วนปลาอีก 2-3 ตัวที่ช่วยชีวิตไว้ได้นั้น(ชีวิตปลาที่อยู่ในมือ 2 ข้างในโปรไฟล์นั่นแหละ)ก็ตายหลังจากนำมาขังน้ำไว้ราว 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น
ขากลับเฉลิม ซึ่งกำลังปลูกต้นไม้อยู่ในวัดบอกว่า"ปัญหาที่พูดถึง มาถึงแล้ว"(คือก่อนริเริ่มแนวคิดให้อาหารปลาฯ ก็เคยคุยกันบ้างว่า แนวคิดนี้อาจเจอปัญหาน้ำเน่าเสีย น้ำเค็ม และน้ำท่วม ทำให้ปลาตายหรือหนีไปอยู่ที่อื่น รวมไปถึงการถูกล่าโดยข่าย แห และไซ)
ผมก็บอกกับเฉลิมกลับไปว่า
"ไม่เป็นไร รู้ว่าปัญหาอาจต้องเกิด แต่ไม่เลิกพยายาม ดีกว่าไม่ลงมือทำอะไรเลย"
เพราะอย่างน้อยๆ ผมก็เห็นความจริงบางอย่างว่า ปลาหมอ ปลาดุก ปลาช่อน และหอยขมอยู่รอดปลอดภัย ถ้าอย่างนั้นหากจะปล่อยปลาหรือจะอนุรักษ์ในระหว่างที่แก้ปัญหานำเน่าเสียนี้ไม่ได้..ชนิดปลาที่พูดถึงมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม...

อ้อ...พอเราลงมือทำเจอปัญหาจริง ได้หายสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ รู้ว่ายากง่ายแค่ไหน ดีกว่ามานั่งสงสัยเป็นปีๆชาติๆแ่ต่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติสักที อย่างนี้ความสงสัยก็อยู่ที่เดิม..ความก้าวหน้าใดๆก็ไม่เกิด จริงไหม?

ความจริง...ผมทราบในภายหลังว่าน้ำเิริ่มเสียตั้งแต่กลางดึกของคืนวันศุกร์แล้ว ฝูงกุ้งหอยปูปลาในคลองอู่ตะเภาบริเวณวัดอู่ตะเภา วัดคูเต่า ซึ่งอยู่ห่้างจากตัวเมืองหาดใหญ่ราว 7 กิโลเมตร ต่างกระเสือกกระสนหนีตาย หาออกซิเจนในน้ำที่บัดนี้มีเบาบางเกินกว่าจะมีชีวิตรอดได้  กุ้งปลาจำนวนมากและหลายชนิดเช่น ปลาตะเพียน ปลาหางแดง กุ้งก้ามกราม ฯลฯ "เมาน้ำ"ลอยคออยู่ในลำคลองรอให้คนไปจับ บ้างก็ตายลอยหงายท้องอยู่กลางคลอง


กุ้งกรามกรามก็..ไม่เหลือรอด

สะพานแขวนเคเบิลข้ามคลองอู่ตะเภา(มีมานานมากๆ)

ภาพ สภ.คูเ่ต่า(ฝั่งตรงข้ามวัดคูเต่า)

ภาพนายแบบจำเป็น..รีบบึ่งไปท่าน้ำทันที ยังไม่แต่งตัวเลย ดูปกคอเสื้อก็รู้ อิอิ(เจ้าของบล็อก)

สภาพทางภูมิศาสตร์




คลองอู่ตะเภาเป็นลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา มีความลาดชันจากทิศใต้ลาดลงมาสู่ทิศเหนือ ด้านทะเลสาบสงขลา โดยมีระดับความสูงของพื้นที่โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 10-50 เมตร รทก. และมีจุดสูงสุดของยอดเขาอยู่ระหว่าง 800-920 เมตร รทก. และจากข้อมูลขอบเขตการปกครอง (กรมการปกครอง, 2547) พบว่า ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาอยู่มีพื้นที่อยู่ในบางส่วนของจังหวัดสงขลา โดยครอบคลุมอำเภอสะเดา อำเภอนาหม่อม อำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอบางกล่ำ และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และในพื้นที่ยังเป็นชุมชนเทศบาล 11 แห่ง คือ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองบ้านพรุ เทศบาลเมืองสะเดา เทศบาลตำบลปาดังเบซาร์ เทศบาลตำบลคลองแงะ เทศบาลตำบลสำนักขาม เทศบาลตำบลพะตง เทศบาลตำบลคอหงส์ เทศบาลตำบลควนลัง เทศบาลตำบลคลองแห และเทศบาลตำบลปริก โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และทะเลสาบสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับ ประเทศมาเลเซีย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอจะนะ และอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดสตูล

หากแบ่งลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาออกเป็นตอนๆคือ ตอนบนหรือตอนเหนือ(ทิศใต้ของแผนที่) ตอนกลาง และตอนล่างหรือตอนใต้(ทิศเหนือของแผนที่) ภาพร่างของปัญหาและสาเหตุน้ำเน่าเสียของลุ่มน้ำ  ก็จะปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นในบทความของ อ.พิชัย ศรีใส ชมรมรวบรวมเรื่องเมืองหาดใหญ่ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการค้นหาประวัติศาสตร์ของเมืองหาดใหญ่ได้รวบรวมข้อมูลของคลองอู่ตะเภาในแง่มุมต่างๆ เอาไว้ ระบุในเอกสารชิ้นหนึ่งอธิบายภาพรวมของลุ่มน้ำนี้ว่าตัวคลองอู่ตะเภาจริงๆ เกิดจากการไหลมาบรรจบของคลองใหญ่ 2 สาย ที่บางหรำ(บ้านคลองแงะ) คือ คลองรำ ซึ่งไหลมาจากเขาลูกช้างและเทือกเขาบรรทัด(ผาดำ) และคลองแม่น้ำที่ไหลมาจากเขาน้ำค้าง รวมความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร ถึงปากอ่าวทะเลสาบ และถ้าจะแบ่งคลองอู่ตะเภาตามสภาพภูมิศาสตร์ และขนาดความกว้างลึกของลำคลอง อันเป็นบริบททั้งหมดของลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาแล้ว อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ตอน คือ


ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนเหนือ(อยู่ทิศใต้ แต่เหนือน้ำ)ซึ่งเป็นเขตป่าเขาของคลองแม่น้ำ และคลองรำอันมีกิ่งก้านสาขาเป็นห้วย หนอง คลอง บึง เป็นร้อยสาย ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอสะเดา อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอนาหม่อม ลุ่มน้ำตอนเหนือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมากมาย สามารถหล่อเลี้ยงเมืองสงขลามาตั้งแต่อดีต ทรัพยากรจากลุ่มน้ำตอนเหนือไม่ว่าจะเป็นหนังสัตว์ ของป่า ไม้ ชัน น้ำมันยาง เครื่องเทศ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลดึงดูดให้เรือสำเภาเข้าถึงท่าหาดใหญ่ และทำให้ที่แห่งหนึ่งบนเส้นทางน้ำสายนี้มีอู่สร้างซ่อมเรือสำเภาขึ้นที่ “บ้านโอ” (ด้านใต้ของวัดอู่ตะเภา) ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนเหนือเป็นดินแดนสำคัญยิ่งสำหรับจังหวัดสงขลาทั้งจังหวัด เพราะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ราบเชิงภูเขา เป็นสวนยาง สวนปาล์ม สวนผลไม้ ซึ่งก่อนนี้เคยเป็นแหล่งแร่ดีบุก (ปัจจุบันหมดแล้ว) เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนเหนือเป็นเขตติดต่อชายแดนประเทศมาเลเซีย และเป็นป่าสลับซับซ้อน จึงมีความสำคัญทางด้านความมั่นคงของประเทศมากที่สุดแหล่งหนึ่ง ทางซีกคลองแม่น้ำเคยเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (รัฐบาลไทยเรียกว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์) ส่วนซีกคลองรำเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (รัฐบาลไทยเรียกว่า ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) อันที่จริงพื้นที่ส่วนนี้เคยเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์มาลายามาก่อน แต่ภายหลังได้ร่วมมือกัน จึงแบ่งเขตพื้นที่เป็นเขตเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (หลักฐานจากร่องรอยที่มั่นบนค่ายผาดำ และคำบอกเล่าของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย)

ปัจจุบันลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาตอนเหนือส่วนชุมชนแนวถนนกาญจนวนิช และคลองแม่น้ำ เป็นเขตพื้นที่อุตสาหกรรม

ลุ่มน้ำอู่ตะเภาเขตชุมชน เป็นเขตพื้นที่สัมพันธ์กับคลองอู่ตะเภาโดยตรง มีลำคลองสาขาจากพื้นที่ต่างที่ไหลลงสู่คลองอู่ตะเภามากมาย เช่น คลองปอม คลองหวะ คลองจำไหร คลองเตย คลองแห ฯลฯ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสะเดา ส่วนต่อกับอำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ อำเภอหาดใหญ่ พื้นที่ลุ่มน้ำส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชกรรม ชุมชนเมือง เป็นแหล่งผู้ใช้น้ำจากคลองอู่ตะเภามากที่สุด สำหรับการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเป็นพื้นที่ที่ปล่อยน้ำเสียลงคลองอู่ตะเภามากที่สุด

เนื่องจากเขตลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาย่านนี้เป็นชุมชนเมือง คลองอู่ตะเภาจึงเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับใช้ในการผลิตน้ำประปา เพื่อการหล่อเลี้ยงคนเมืองหาดใหญ่ทั้งเมือง คลองหอยโข่งบางส่วน นาหม่อมบางส่วน เมืองสงขลาทั้งเมือง เมืองสิงหนคร จึงสรุปได้ว่าความเป็นไปเกือบทั้งหมดของจังหวัดสงขลาอาศัยน้ำหล่อเลี้ยงจากคลองอู่ตะเภา จึงจัดเป็นเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอู่ตะเภาที่สำคัญ

ท่าหาดใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่เขตลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนนี้ และถ้าพิจารณาตามความกว้างลึกของคลองอู่ตะเภา เขตลุ่มน้ำตอนนี้นับได้ว่ามีอิทธิพลสูงสุด กล่าวคือ เป็นลำคลองที่ลึก และกว้างจนเรือขนาดใหญ่อย่างเรือสำเภาแล่นเข้าถึง อันเป็นสิ่งที่ทำให้ท่าหาดใหญ่ ได้มีความสำคัญมาแต่อดีต อีกทั้งเป็นเขตอิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงมีมาถึงท่าหาดใหญ่ และเข้าไปถึงแถวบ้านชายคลอง ตำบลบ้านพรุ ด้วยเหตุนี้เองที่ก่อปัญหาน้ำเค็มเข้าถึงโรงผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคบางฤดูกาล

ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนนี้ นอกจากเป็นชุมชนเมือง ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกของพืชเศรษฐกิจสำคัญมากมาแต่อดีตแล้ว

ลุ่มน้ำอู่ตะเภาตอนล่าง อาจนับได้จากเขตอิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงไล่ลงไปจรดปากบางและอ่าวแหลมโพธิ์ มีพื้นที่คลอบคลุมจากอำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอควนเนียง และอำเภอเมืองด้านทิศใต้ (ส่วนพื้นที่รับน้ำแนวฝั่งทะเลสาบ) พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม (ทำนา ทำสวน) ประมงพื้นบ้าน

เขตลุ่มน้ำตอนล่าง เป็นเขตลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะ ที่ชุมชนเหนือน้ำปล่อยน้ำทิ้งลงคลองอู่ตะเภา จากเดิมที่เคยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งวัฒนธรรมเฉพาะของแม่น้ำอู่ตะเภาหลายอย่าง อาทิ วิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนกับวัฒนธรรมไทยท้องถิ่นอย่างกลมกลืน จนเกิดมีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะของตนเอง อย่างกรณีเพลงเรือแหลมโพธิ์ เพลงยาวเกาะใหญ่ การกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษ อาคารสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สวยงามโดดเด่น มีลักษณะเฉพาะอย่างเห็นได้ชัด

วัดคูเต่าก็เป็นอีกแหล่งสำคัญทางศิลปะวัตถุ มีอุโบสถสวยๆ มีสะพานแขวนที่เป็นภูมิปัญญาของช่างโบราณที่หาดูได้ยาก และเพลงเรือแหลมโพธิ์ก็เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของคนโบราณที่ยังคงหลงเหลือมีการสืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน(โปรดอ่านรายละเอียดใน ชาคริต โภชะเรือง)

ย้อนกลับไปในอดีต

ข่าวน้ำเสียในคลองอู่ตะเภามีมาโดยตลอดเป็นระยะ เช่น 23 สิงหาคม 2549 18:27 น.
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ ของผู้จัดการออนไลน์ รับแจ้งจากชาวบ้าน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เดือดร้อน หลังถูกโรงงานที่อยู่ในชุมชนลักลอบปล่อยน้ำเสียในช่วงกลางคืน ทำให้ปลาในน้ำตายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก แม้ว่าจะร้องเรียนไปยังฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่การแก้ไขและการช่วยเหลือไม่ชัดเจน
    
ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านย่านยาว ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อกับพื้นที่บ้านทุ่งลุง เขตเทศบาลตำบลพะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นำโดยนายอำนวย สุขสวัสดิ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทุ่งลาน นายเปรม เหลาสุวรรณ กำนันตำบลทุ่งลาน ได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ว่า มีปลานานาชนิดในคลองอู่ตะเภา ลอยอืดตายเป็นจำนวนมาก สาเหตุมาจากโรงงานต่างๆ ในพื้นที่ ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในคลอง จนทำให้น้ำเสีย ซึ่งเป็นตัวต้นเหตุที่ทำให้ปลาตายในครั้งนี้
    
นายอำนวย สุขสวัสดิ์ สมาชิก อบต.ทุ่งลาน กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ที่เดินทางมาหาปลาที่คลองดังกล่าว ไปบริโภคและนำไปขาย แต่ปรากฏว่า พบปลานานาชนิดจำนวนนับพันตัว ลอยตายเกลื่อนคลอง ชาวบ้านจึงได้แจ้งมายังตนเอง เนื่องจากในฐานะตนเองเป็นอาสาสมัครของสำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 16 สงขลาอยู่ด้วย เพื่อให้เดินทางมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
    
จากนั้นตนก็ได้ประสานงานแจ้งข้อมูลที่เกิดขึ้น ให้ผู้สื่อข่าวรับทราบ เพื่อต้องการให้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการนำข้อมูลไปเสนอเป็นข่าว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เข้ามาดูแลและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงจังด้วย เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่กว่า 1,000 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลังจากที่ผ่านมาเคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ หลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจังและจริงใจ
    
สำหรับคลองอู่ตะเภา ถือว่าเป็นคลองสายหลัก ที่ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอหาดใหญ่ รวมถึงอำเภอใกล้เคียง ใช้ประโยชน์ในการนำมาอุปโภคและทำการเกษตร เมื่อเกิดน้ำเสียขึ้นมา อันมีสาเหตุมาจากโรงงานในพื้นที่ปล่อยน้ำเสียลงในคลอง ส่งผลให้สัตว์น้ำโดยเฉพาะจำพวกปลาต่างๆ ที่ชาวบ้านเคยจับมาบริโภค และนำไปขายสร้างรายได้แก่ครอบครัวต้องตายเป็นจำนวนมาก แถมสภาพของน้ำก็มีกลิ่นเหม็นด้วย ทำเอาชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
    
“ในละแวกนี้มีโรงงานผลิตน้ำยางข้นประมาณ 4 แห่ง และโรงงานผลิตอิฐบล็อก 1 แห่ง โดยส่วนใหญ่ มักจะมีการแอบปล่อยน้ำเสียลงในคลองดังกล่าวในเวลากลางคืน ในขณะที่ช่วงกลางวันของบางวัน ก็มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองเช่นกัน แต่จะปล่อยออกมาในปริมาณที่น้อยกว่าช่วงกลางคืน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา เมื่อมีปลาตาย ผมและชาวบ้านได้เก็บตัวอย่างของน้ำในคลอง ณ จุดที่มีปลาตาย ส่งให้นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) ตรวจสอบทุกครั้ง และผลตรวจสอบ พบว่า มีสารตะกั่วทุกครั้งที่ส่งไปตรวจ” นายอำนวย กล่าว
    
ด้านนายเปรม เหลาสุวรรณ กำนันตำบลทุ่งลาน กล่าวถึงกรณีเดียวกัน ว่า ทุกวันนี้ก็ยังพบว่า มีน้ำเสียถูกปล่อยออกมาจากโรงงานต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง จุดที่มีปลาตายอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้ จะลักลอบปล่อยน้ำเสียในช่วงกลางคืน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก แม้ว่าจะร้องเรียนไปยังฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่การแก้ไขและการช่วยเหลือก็ยังไม่ชัดเจน
    
 “ในเดือนสิงหาคม มีปลาตายลอยเกลื่อนคลองเป็นครั้งที่สี่แล้ว และทุกครั้งก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือหรือจัดการแก้ไข แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าและดีขึ้น ฉะนั้น ในครั้งนี้จึงต้องอาศัยสื่อช่วยเป็นตัวกลาง ในการนำเสนอข่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้และให้การช่วยเหลือชาวบ้านด้วย โดยเฉพาะการเข้าไปจัดการดูแลมาตรฐานบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานต่างๆ ที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลอง” นายเปรม กล่าว

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5752  ข่าวสด
สงขลา - นายอำนวย สุขสวัสดิ์ สมาชิกสภาอบต.ทุ่งลาน นายเปรม เหลาสุวรรณ กำนันตำบลทุ่งลาน พร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1 บ้านย่านยาว ต.ทุ่งลาน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชนว่า ขณะนี้ชาวบ้านประสบความเดือดร้อน สาเหตุมาจากโรงงานในพื้นที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงในคลอง จนปลานานาชนิดในคลองอู่ตะเภาตายเป็นจำนวนมาก

นายอำนวย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านในพื้นที่ที่ไปหาปลาในคลองดังกล่าว พบปลานานาชนิดจำนวนนับพันตัวลอยตายเกลื่อนคลองเต็มไปหมด เนื่องจากน้ำในคลองบริเวณดังกล่าวเกิดการเน่าเสีย จึงได้มาแจ้งให้ตนในฐานะที่เป็นอาสาสมัครของสำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 16 สงขลาทราบ จึงแจ้งข้อมูลที่เกิดขึ้นให้ผู้สื่อข่าวรับทราบ เพื่อต้องการให้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางในการนำข้อมูลไปเสนอเป็นข่าว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้ามาดูแลและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างจริงจังด้วย เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่กว่า 1,000 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลังจากที่ผ่านมาเคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ หลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงจังสักที

"ในละแวกนี้มีโรงงานผลิตน้ำยางข้น 4 แห่ง โรงงานผลิตอิฐบล็อก 1 แห่ง ส่วนใหญ่มักจะแอบปล่อยน้ำเสียลงในคลองในเวลากลางคืน ในขณะที่ช่วงกลางวันของบางวันก็มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองเช่นกัน แต่จะปล่อยออกมาในปริมาณที่น้อยกว่าช่วงกลางคืน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีปลาตาย ผมและชาวบ้านได้เก็บตัวอย่างของน้ำในคลอง ตรงจุดที่มีปลาตาย ส่งให้ทางนักวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ตรวจสอบทุกครั้ง และผลตรวจสอบพบว่า มีสารตะกั่วทุกครั้งเช่นกัน" นายอำนวย กล่าว

ด้านนายเปรม กล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ยังพบว่ามีน้ำเสียปล่อยออกมาจากโรงงานต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงจุดที่มีปลาตายอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่โรงงานเหล่านี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก ในเดือนส.ค.นี้ มีปลาตายลอยเกลื่อนคลองเป็นครั้งที่สี่แล้ว และทุกครั้งก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือหรือจัดการแก้ไข แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าและดีขึ้น ฉะนั้นในครั้งนี้จึงต้องอาศัยสื่อช่วยเป็นตัวกลาง ในการนำเสนอข่าวเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้ และให้การช่วยเหลือชาวบ้านด้วย โดยเฉพาะการเข้าไปจัดการดูแลมาตรฐานบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานต่างๆ ที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองอู่ตะเภา

สาเหตุของปัญหา

ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภามีปัญหาน้ำเน่าเสียมานานมากแล้ว นับแต่ผมจำความได้ก็มีเหตุการณ์ปลาเมาน้ำเน่าเสียแล้ว แม้เวลาผ่านไปหลายสิบปีแล้ว แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ในภาพรวมนั้นปัญหาหลักมีสาเหตุมาจากปัจจัยเหล่านี้คือ
  1. น้ำเน่าเสียจากชุมชน จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ระบบกำจัดน้ำเสียของเทศบาลบริเวณลุ่มน้ำอู่ตะเภาซึ่งมีรวม 10 แห่ง บางแห่งก็ไม่มีระบบกำจัดน้ำเสีย บางแห่งมีแต่ยังไม่มีประสิทธิผลเต็มร้อย อย่างนี้เมืองและชนบทก็เป็นอริต่อกันไปอีกยาวไกล..พอฝนตกใหญ่แบบฝนแรก ก็เหมือนการล้างเมืองน้ำแรกๆครั้งใหญ่ แค่นึกภาพก็สยดสยองแทนปลาและสัตว์น้ำแล้ว เมืองไม่เพียงเป็นศัตรูกับชนบทเท่านั้น แต่เมืองยังเป็นอริกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เว้นเสียแต่ว่าเขตเมืองทั้งหมด บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองได้สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ก็พออยู่ร่วมกันได้
  2. น้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ตอนเด็กๆจำได้ว่าจำเลยที่ชาวบ้านรับรู้ในขณะนั้นคือ โรงทำเหล้าและโรงงานผลิตยางแผ่นรมควันปล่อยน้ำเสีย วัยเด็กผมสนุกนะ ได้จับปลาที่กำลังลอยหัว พะงาบๆอยู่ในคลอง สนุกแบบเด็กๆที่ได้จับปลา กินได้หรือไม่ได้ผมไม่สนใจ ปัจจุบัน พ.ศ.2552 ปัญหานี้ก็ยังอยู่..เวรกรรมของประเทศไทย
เพียงแค่สาเหตุปัญหา 2 ประการนี้ ระบบราชการและการเมืองในยุค 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็ไม่อาจป้องกันหรือแก้ปัญหานี้ได้เลย...เวรกรรม

อุตสาหกรรมจังหวัดก็มี สจ.ก็มี...สท. ส.อบต. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรีฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ตำรวจ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ฯลฯ นายก อบจ. สส. ผู้ว่าราชการจังหวัดก็มี

เช่นกันในคราวนี้...ปลาตายก็เดือน สิงหาคม อีกแล้ว





ปัญหาเดิมๆ วันเวลาเดิมๆ นักการเมืองหน้าเดิมๆ ข้าราชการแบบเดิมๆไม่มีวันแก้ปัญหาได้..ผมว่าเลิกหวังได้เลย...

เราต้องลุกขึ้นมา คิดเอง ทำเอง กันได้แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุด...ก็ต้องรู้จักต่อรองประโยชน์หรือกดดันนักการเมืองในเรื่องนี้..เมื่อมีการเลือกตั้ง


ขอบคุณ
ถ่ายภาพจากกล้องมือถือ โดยปลัดหอย ปรีชา พงศ์ประยูร

1 ความคิดเห็น:

  1. ดีใจจังที่มีคนเห็นความสำคัณดูแลชุมชน ชอบสะพาน อยากให้ดูแลรักษาสะพาน ไม่เอาสะพานปูน เป็นกำลังใจให้ค่ะ อยากเห็นนำ้ใส ชุมชนน่าอยู่ริมคลองหายากขึ้นทุกวัน สู้ๆค่ะ

    ตอบลบ